ปราสาทเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น
ปราสาทเปือยน้อย หรือ กู่เปือยน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ ๗๐ กิโลเมตร นับเป็นปราสาทอิฐในวัฒนธรรมเขมรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดขอนแก่น สร้างขึ้นในศิลปขอมสมัยบาปวนต่อเนื่องถึงสมัยนครวัด โดยรูปแบบน่าจะสร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู
ด้านนอกสุดมีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปตัว U ถัดเข้ามาเป็นกำแพงแก้วล้อมรอบอาคารสำคัญภายใน กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว ๓๒ เมตร กว้าง ๒๘ เมตร และหนาประมาณ ๑.๕๐ เมตร มี โคปุระ ทางเข้าสำคัญทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
ภายในกำแพงแก้วประกอบด้วย ปราสาทอิฐสามหลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน เรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ส่วนหลังคาปราสาททั้งสามพังทลายลงไปแล้ว เหลือเพียงฐานและผนังเรือนธาตุ รวมทั้งหน้าบันและทับหลังหินทรายที่ยังคงลวดลายแกะสลักที่งดงามอยู่หลายที่ โดยมีปราสาทหลังกลางเป็นปราสาทประธานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาบทั้งสองข้างด้วยปราสาทหลังย่อมลงมา
ภายในกำแพงยังมีมี บรรณาลัย อยู่ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้าไปทิศตะวันตก สวนทางกับปราสาทประธาน เป็นอาคารที่มักพบคู่กับปราสาทประธานเสมอ สันนิษฐานว่าใช้เก็บคัมภีร์หรือข้าวของเครืองใช้ในศาสนพิธี หรือใช้ประดิษฐานรูปเคารพชั้นรอง
มีทับหลัง “นารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่ด้านหน้าปราสาทหลังกลาง มีลักษณะสมบูรณ์และแสดงรูปแบบศิลปะแบบบาปวนอย่างชัดเจน เป็นภาพสลักพระนารายณ์สี่กร บรรทมเหนือพญาอนันตนาคราช มีพระลักษมีประทับนั่งบีบนวดอยู่ที่ปลายพระบาท และมีพระพรหมอยู่เหนือดอกบัวที่ผุดออกมาจากพระนาภีของพระนารายณ์
ทับหลังสำคัญอีกชิ้นคือ “คชลักษมี” สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นรูปพระแม่ลักษมีขนาบข้างด้วยช้าง ๒ เชือกที่ชูงวงรดน้ำแด่พระแม่ ปรากฎที่ปราสาทหลังทางทิศเหนือ และอยู่เหนือประตูหลอกด้านทิศตะวันตกของปราสาท เป็นทับหลังที่พบเห็นได้ยาก
ยังมีทับหลังรูป “พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ” บริเวณโคปุระด้านทิศตะวันออก ทับหลังรูปเทวดาประทับเหนือหน้ากาล พบหลายชิ้น และเป็นทับหลังที่มักพบในศิลปะแบบบาปวน
นอกจากนั้นยังมีหน้าบันหินทรายทางทิศตะวันออกของบรรณาลัย ที่มีภาพสลักรูป “อุมามเหศวร” เป็นภาพพระแม่อุมาประทับนั่งบนพระเพราของพระศิวะที่ประทับเหนือโคนนทิพร้อมบริวารอยู่รอบข้าง
แม้ปราสาททั้งสามหลังเหลือสภาพไม่สมบูรณ์นัก แต่มีทับหลังและหน้าบันหินทรายที่ยังคงมีลวดลายแกะสลักที่สวยงาม ทรงคุณค่า และแสดงถึงพัฒนาการทางศิลปะจากสมัยบาปวนเข้าสู่สมัยนครวัดที่หาดูได้ยาก
ปราสาทเปือยน้อยเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม ด้านเหนือของปราสาทเปือยน้อยเป็นที่ตั้งของ วัดธาตุกู่ทอง สามารถขับรถเข้ามาทางประตูวัด เข้าไปจอดรถแล้วเดินเข้ามาในเขตโบราณสถานได้