สมัยวัฒนธรรมเขมรแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์

กู่ประภาชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

กู่ประภาชัย เป็น อโรคยาศาล อีกแห่งในจำนวน ๒ แห่งที่พบในจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ภายในวัดกู่ประภาชัย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

กู่ประภาชัย เป็นศาสนสถานประจำอโรคยาศาล (โรงพยาบาลในสมัยเขมรโบราณ) หรือที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึกว่า สุคตาลัย เดิมคงมีเรือนพยาบาลอยู่รอบนอกโบราณสถาน แต่คงสร้างด้วยไม้จึงผุพังไม่เหลือร่องรอยให้เห็น จึงมีแต่เพียงศาสนสถานประจำโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะสร้างด้วยศิลาแลงแทบทั้งหมด ยกเว้นส่วนกรอบประตูหน้าต่างและทับหลังเท่านั้นที่สร้างด้วยหินทราย

ศาสนสถานประจำอโรคยาศาลทั้งหมดมีมาตรฐานแบบเดียวกัน อาจแตกต่างที่ขนาดบ้างเล็กน้อย ประกอบด้วย สระน้ำ อยู่ด้านนอกกำแพงแก้วเยื้องไปทางมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กรุด้วยศิลาแลงสอบเป็นขั้นบันไดลงไปด้านล่าง ส่วนอาคารที่เหลือทั้งหมดอยู่ภายใน กำแพงแก้ว รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ก่อด้วยศิลาแลง มีประตูทางเข้าหลักทางทิศตะวันออกที่เรียกว่า โคปุระ มีผังเป็นรูปกากบาทด้านทิศเหนือและใต้ต่อกับกำแพงแก้ว

อาคารด้านในกำแพงแก้วประกอบด้วย ปราสาทประธาน ที่อยู่เกือบกึ่งกลางภายในกำแพงแก้ว มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม สร้างด้วยศิลาแลงได้รับการบูรณะค่อนข้างสมบูรณ์ตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอดหลังคา แต่ยังคงสร้างไม่เสร็จเช่นเดียวกับอโรคยาศาลส่วนใหญ่ที่พบ เพราะไม่พบร่องรอยการแกะสลักทับหลัง และการตกแต่งในรายละเอียด ภายในเดิมคงประดิษฐานพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือพระพุทธเจ้าแพทย์ พร้อมบริวารอีก ๒ องค์ แต่ไม่เหลือร่องรอยหลักฐาน

อาคารอีกหลังคือ บรรณาลัย ที่อยู่บริเวณมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกำแพงแก้ว สร้างด้วยศิลาแลง แต่หันหน้าทางเข้าไปทิศตะวันตก อาจใช้ประดิษฐานรูปเคารพชั้นรอง เพราะส่วนใหญ่พบประติมากรรมรูป พระยมทรงกระบือ และพระวัชรปาณีทรงครุฑ (เช่นที่ กู่แก้ว อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น)

 

“กู่ประภาชัย นับเป็น ๑ ใน ๓๑ แห่งของอโรคยาศาลที่พบและได้รับการบูรณะแล้วในประเทศไทย และเป็น ๑ ใน ๑๐๒ แห่งที่ระบุไว้ในศิลาจารึกที่ปราสาทตาพรหม ที่กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดฯให้สถาปนาโรงพยาบาล ๑๐๒ แห่ง ขึ้นทุกๆ วิษัย (จังหวัด)”

 

Summary:

ที่ตั้ง: วัดกู่ประภาชัย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

ประวัติความเป็นมา: เป็นอโรคยาศาล ที่โปรดฯให้สร้างขึ้นโดย พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

อายุสมัย: ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

รูปแบบศิลปะ: ศิลปะเขมรแบบบายน เป็นรูปแบบเฉพาะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสร้างขึ้นในสมัยนี้เท่านั้น

สถาปัตยกรรมสำคัญ: ปราสาทประธาน บรรณาลัย โคปุระ กำแพงแก้ว และสระน้ำ

โบราณวัตถุสำคัญ: ประติมากรรมรูปพระไภษัชยคุรุ พระยมทรงกระบือ พระวัชรปาณีทรงครุฑ พระโพธิสัตว์สี่กร (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น)

กิจกรรมที่สามารถทำได้: ถ่ายภาพ 

วันเวลาเปิดปิด: ๐๖:๐๐-๑๗:๐๐ น.

ค่าเข้าชม: ไม่มี

หมายเหตุ: แต่งกายสุภาพ ไม่ปีนป่ายโบราณสถานในพื้นที่ห้าม 

อัลบั้มภาพ:  

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
  • Today's visitors: 0
  • Today's page views: : 0
  • Total visitors : 0
  • Total page views: 0