สิมวัดสระทองบ้านบัว อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น
สิม หรือ อุโบสถ ขนาดเล็ก ทาสีขาว ตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้น ประดับกระจก และลงสีบางส่วน แทนที่จะเป็นภาพวาดเต็มผนัง หรือที่เรียกว่า ฮูปแต้ม ตามแบบที่นิยมในสิมอื่นๆ นี่คือลักษณะที่โดดเด่นของ สิมวัดสระทองบ้านบัว
สิมแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในวัดสระทองบ้านบัว ตำบลกุดเค้า อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๖๐ กว่ากิโลเมตร
เป็นสิมที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ตามประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๔ ชาวบ้านจากบ้านโนนเค้า (ปัจจุบันคือ วัดป่ามัญจาคีรี) ได้หนีโรคระบาดและการขาดแคลนน้ำบริโภคมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมสระบัว จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบัว” และชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างสิมแห่งนี้ขึ้นเป็นแห่งแรกในแถบนี้ รวมทั้งได้อัญเชิญพระพุทธรูปหินทรายแดงมาประดิษฐานอยู่ภายในด้วย
ลักษณะของสิมวัดสระทองบ้านบัว เป็นสิมทึบขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน มีความกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาว ๘ เมตร มีเสมาหินเป็นแท่งกลมมนหลากหลายขนาดปักโดยรอบแปดทิศ
สิมมีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวทางทิศตะวันออก ผนังด้านข้างเจาะเป็นซุ้มหน้าต่างด้านละสองช่อง แต่อีกหนึ่งช่องที่เป็นส่วนของผนังด้านที่ติดกับพระประธาน ไม่เจาะช่องหน้าต่าง แต่ทำเป็นซุ้มหน้าต่างหลอกแทน รวมทั้งผนังด้านหลังของพระประธานก็ทำเป็นซุ้มหน้าต่างหลอกเช่นเดียวกัน ส่วนหัวเสาทำเป็นรูปกลีบบัว หลังคาเป็นทรงจั่วชั้นเดียวมีปีกนกคลุมโดยรอบ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์
ผนังด้านนอกตกแต่งด้วยงานปูนปั้นนูนต่ำและลงสีบางส่วน ทำเป็นรูปคนหลากหลายอิริยาบท เช่น คนขี่ช้าง ขี่ม้า นั่งเรือ ชกมวย รวมทั้งภาพเทวดา ภาพสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ นก ช้าง พญานาค จระเข้ และภาพดอกไม้ที่มีกระจกเงาวงกลมตกแต่งส่วนที่เป็นเกสรตรงกลาง เป็นต้น
ส่วนผนังด้านในของสิมโล่ง ไม่มีลวดลายหรือฮูปแต้ม (ภาพเขียนสี) ตกแต่ง ด้านในสุดประดิษฐานพระประธานหินทรายสีแดงตามแบบศิลปะล้านช้าง ที่ชาวบ้านอัญเชิญมาด้วยเมื่อครั้งย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และถวายนามว่า พระมงคลพุทธศิลาทอง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อศิลาทอง
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี ๒๕๔๔ และใน พ.ศ. ๒๕๔๕ สิมวัดสระทองบ้านบัวได้รับรางวัลอาคารทรงคุณค่าด้านการอนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก (Award of Merit) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO)
สิมวัดสระทองบ้านบัว จึงนับเป็นสถาปัตยกรรมทัองถิ่นที่เก่าแก่ โดดเด่น และทรงคุณค่า ที่น่าแวะมาเยือนอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น