สมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์

เมืองโบราณบ้านโนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

แหล่งโบราณคดีที่เป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ที่แสดงถึงความเก่าแก่ และการอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องของผู้คนในพื้นที่นี้

จากการค้นพบใบเสมาหินทรายตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีการนำใบเสมาบางใบจากที่นี่ไปเป็นเสาหลักเมืองของเมืองชุมแพ และหลักเมืองของจังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่า “โนนเมือง”

เมืองโบราณโนนเมือง ตั้งอยู่ในเขตบ้านนาโพธิ์ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๘๕ กิโลเมตร และห่างจากอำเภอชุมแพประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นลักษณะของเมืองเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ค่อนข้างกลม มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ซ้อนกัน ๒ ชั้น ตัวเมืองชั้นในมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔๒๐ เมตร เมืองชั้นนอกมีรูปทรงค่อนข้างยาวรี มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖๐๐ เมตร

กรมศิลปากรเข้ามาสำรวจและขุดกู้หลักฐานทางโบราณคดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ และระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๒๖ และในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๔-๒๕๓๕ ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี พร้อมสร้างอาคารหลังคาคลุมหลุมขุดค้นเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้เห็นสภาพของหลุมฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งสร้างอาคารนิทรรศการ ปรับภูมิทัศน์ สำรวจเก็บข้อมูลเพิ่มเติม มาโดยลำดับ

จากการขุดค้นดังกล่าวพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน ๓๕ โครง ทำให้ทราบลักษณะทางกายภาพ และแบบแผนประเพณีการฝังศพที่นิยมทุบภาชนะดินเผาให้แตกแล้วปูรองพื้นหลุมฝังศพ หรือบ้างมีการวางโปรยทับศพ มีการมัดหรือห่อด้วยผ้า เนื่องจากแขนขามีลักษณะแนบลำตัว ยังพบเศษผ้าติดที่กำไลสำริด พบว่าการใช้พื้นที่ฝังศพซ้อนทับกัน บ้างก็มีการฝังศพไว้ใต้ถุนเรือน เพราะพบพบร่องรอยของหลุมเสาด้วย

ส่วนของอุทิศให้กับศพมีทั้งภาชนะดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เครื่องมือเหล็ก เครื่องประดับตา่งๆ ที่ทำจากสำริด ดินเผา แก้ว และเปลือกหอยทะเล ที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนทางไกล และอาจใช้เป็นเครื่องบอกฐานะทางสังคมของผู้ตายได้อีกด้วย ซึ่งพบเฉพาะในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ต่อเมื่อเข้าถึงสมัยวัฒนธรรมทวารวดีการฝังศพแบบนี้จึงหมดไป เป็นการเผาแทนที่

ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ พบสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และเกี่ยวกับพุทธศาสนา ได้แก่ ตะคันดินเผา หรือตะเกียงตามไฟ เป็นถ้วยดินเผาขนาดเล็ก ภาชนะแบบกุณฑี และก้อนหินขัดผิวภาชนะดินเผา เป็นต้น โดยเฉพาะการพบใบเสมา ซึ่งเป็นหลักฐานโดดเด่นของสมัยทวารวดี บางส่วนถูกเคลื่อนย้ายไปที่อื่น

ในสมัยวัฒนธรรมเขมร ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ และในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ใน สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง หลังจากนั้นมีการทิ้งร้างเมือง จนในยุคปัจจุบันมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่โดยรอบเนิน

ขณะนี้ทางจังหวัดร่วมกับกรมศิลปากรวางแผนที่จะยกฐานะขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์โนนเมืองภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
  • Today's visitors: 0
  • Today's page views: : 0
  • Total visitors : 0
  • Total page views: 0